Blogger นี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสิ่งแวดล้อมของประเทศเพื่อใช้ในการเรียน และสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เรียน และจัดทำเป็นBlogger เพื่อใช้ในการเรียนวิชาฮินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

การกำจัดขยะมูลฝอย
เริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวม  การขนย้ายไปยังโรงงานและการทำลายขยะมูลฝอย เมื่อเรารวบรวมขยะมูลฝอยทิ้ง  ควรแยกให้เป็นประเภท  เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการเก็บและทำลาย  เศษแก้ว  เศษกระจก และของมีคมต่าง ๆ  ควรแยกต่างหาก  ไม่ทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ   เพราะอาจจะบาดหรือตำผู้อื่นได้  เราควรเก็บขยะมูลฝอยใส่ถุงและผูกปากถุงให้เรียบร้อย  ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด  เพื่อป้องกันสุนัขคุ้ยเขี่ย
การขนย้ายได้รับการปรับปรุงขึ้นมาก  ตามเมืองใหญ่และในเขตเทศบาล  จะมีรถไปเก็บขยะมูลฝอยถึงบ้าน  ในบางเขตจะมีถังรองรับขยะมูลฝอยตั้งไว้ริมถนน หรือตามบริเวณที่มีขยะมูลฝอยมาก  เช่น  ตามโรงเรียน  ตลาด  ศูนย์การค้า  ฯลฯ  เราควรผูกปากถุงให้เรียบร้อย  แล้วขนไปใส่ลงในถังรองรับที่จัดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ  เมื่อถังเต็มจะมีรถมาขนไปยังโรงงานเพื่อทำลายต่อไป
การกำจัดขยะมูลฝอย  มีหลายวิธี  เช่น  การเผากลางแจ้ง  การเทกองบนพื้นดิน  การนำไปทิ้งทะเล  แต่วิธีการเหล่านี้ไม่ถูกต้อง  เพราะทำให้เกิดภาวะมลพิษต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์  ตัวอย่างเช่น  การเผากลางแจ้ง  ทำให้เกิดควันและฝุ่นละอองในอากาศ วิธีกำจัดที่ถูกต้อง คือ การเผาในเตาเผาขยะ  การฝังกลบ  การหมักทำปุ๋ย และการแปรสภาพเป็นพลังงาน

  
 

     การเผาขยะ
          สามารถทำลายขยะมูลฝอยได้เกือบทุกชนิด  เตาเผามีหลายชนิดขึ้นอยู่กับลักษณะของขยะมูลฝอย  ถ้าเป็นประเภทที่ติดไฟง่าย  เราสามารถใช้เตาเผาชนิดที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงช่วย  แต่ถ้าขยะมูลฝอยมีความชื้นมากกว่าร้อยละ 50   เตาเผาขยะต้องเป็นชนิดที่ใช้เชื้อเพลิงจำพวกน้ำมันเตาช่วยในการเผาไหม้  การเผาในเตาเผาใช้เนื้อที่น้อย  ส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้  เช่น  ขี้เถ้า  สามารถนำไปใช้ถมที่ดินหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
     การฝังกลบ
        ทำได้โดยนำขยะมูลฝอยมาเทลงในพื้นที่ที่เตรียมเอาไว้แล้วกลบด้วยดิน และบดให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง  การฝังกลบไม่สร้างความรำคาญและเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม  พื้นที่บางแห่งเมื่อถมเสร็จเรียบร้อย  อาจนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ  เช่น  ทำเป็นสวนหย่อม  สนามกีฬา  เป็นต้น
รูปโรงกำจัดขยะ
     การแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน
        คือการนำขยะมูลฝอยที่ติดไฟได้มาทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับต้มน้ำ หรือผลิตไอน้ำเพื่อไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้
     การหมักทำปุ๋ย
        ใช้วิธีนำขยะมูลฝอยที่ส่วนมากเน่าเปื่อยได้  มาผ่านขบวนการบดหมักทำลายของโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย  เพื่อให้เกิดการย่อยสลายตัว  ขยะมูลฝอยที่ผ่านการหมักแล้ว  จะถูกนำไปผึ่งต่อที่ลานผึ่งประมาณ 40-60 วัน  เพื่อให้การย่อยสลายเป็นไปโดยสมบูรณ์  จากนั้นจะถูกนำไปร่อนแยกเอาส่วนที่จะใช้เป็นปุ๋ยต่อไป
         ขยะมูลฝอยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวันตามจำนวนประชากร  ถ้าเรามักง่าย  ไม่ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง  จะเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา  กองขยะมูลฝอยเป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรก  นอกจากจะส่งกลิ่นเหม็น  ทำให้อากาศเป็นพิษ  ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์นำโรค  เช่น  ยุง  แมลงวัน และหนู  เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคอย่างดี  เราทุกคนจึงควรช่วยกันทิ้งขยะมูลฝอยให้เป็นระเบียบ  บ้านเมืองของเราจะได้สวยงาม  สะอาด  ร่มรื่น และไม่มีมลพิษ
         เศษกระดาษ  เศษถุงพลาสติก  เศษผัก  เศษอาหาร  ใบไม้  ซากสัตว์  รวมถึงวัตถุอื่น ๆ ที่มนุษย์ไม่ต้องการ  เรียกว่า  ขยะมูลฝอย  ขยะมูลฝอยเกิดจากกิจกรรมในบ้านเรือน  โรงงาน  โรงเรียน  ตลาด  ร้านค้า  ข้างถนน  บริเวณที่มีการก่อสร้าง และทุกแห่งที่มีมนุษย์อยู่  เป็นต้น
         ในบ้านของเราก็มีขยะมูลฝอย  ถ้าเราทิ้งขยะเกลื่อนกลาดไม่เป็นที่เป็นทาง  บ้านก็จะสกปรก  ขาดความสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อย  เป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็น และยังมีกลิ่นเหม็นที่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่อยู่อาศัยและบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
         นอกจากนี้  กองขยะมูลฝอยยังเป็นแหล่งอาหาร  แหล่งเพาะพันธุ์ และเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ คือ เป็นพาหะนำโรค  เช่น  หนู  แมลงวัน  แมลงสาบและยุง  ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็น คือ เชื้อโรคต่าง ๆ อีกด้วย
         การทิ้งขยะมูลฝอยให้เป็นที่เป็นทาง  คือทิ้งขยะมูลฝอยลงในภาชนะ  เช่น  ถังที่มีฝาปิด  ถ้าใช้ถุงพลาสติก  เมื่อเต็มแล้วต้องผูกปากถุงให้มิดชิดเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น และป้องกันไม่ให้สัตว์คุ้ยเขี่ย ทั้งนี้จะช่วยป้องกันความสกปรก และอันตรายที่เกิดจากขยะมูลฝอย  เช่น  เศษแก้วบาดเท้า  การเก็บขยะมูลฝอยให้มิดชิด  ทำให้บ้านเมืองของเราสะอาดเป็นระเบียบ  สวยงามน่าอยู่อาศัย
         ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับมนุษย์  เมื่อมนุษย์ทำสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้  ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหาร  จะมีเศษหรือสิ่งที่ไม่ต้องการเหลือ  เช่น  เศษไม้เหลือจากการแกะสลัก  ถุงพลาสติกใส่ของที่ซื้อมา  กระดาษหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้ว และเศษอาหารเหลือจากการรับประทาน  เป็นต้น
         ขยะมูลฝอยที่กองหมักหมมเป็นสิ่งสกปรก  ส่งกลิ่นเน่าเหม็น  มีแมลงวันตอม  หนู  แมลงสาบ  มด และเชื้อโรคต่าง ๆ  อาศัยอยู่ในกองขยะมูลฝอย  ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่เพาะพันธุ์ของมัน  การทิ้งขยะมูลฝอยลงบนพื้นถนนหรือลงในแม่น้ำลำคลองนั้น  นอกจากจะทำให้บ้านเมืองดูไม่เป็นระเบียบแล้ว  ขยะมูลฝอยยังเป็นสิ่งกีดขวางการจราจรอีกด้วย  การทิ้งขยะมูลฝอยลงในลำน้ำจะทำให้ลำน้ำตื้นเขิน และน้ำไหลเวียนไม่สะดวก  ขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมาก  จะทำให้น้ำในลำคลองเน่าเสีย และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำและสัตว์น้ำที่อาศัยในแม่น้ำลำคลองนั้น
         กองขยะมูลฝอยที่ถูกทิ้งไว้นาน ๆ   จะเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ที่อยู่บริเวณข้างเคียง  เศษชิ้นส่วนของขยะมูลฝอยบางชนิดมีน้ำหนักเบา  จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ  ส่งกลิ่นเหม็น และฝุ่นที่เกิดจากเศษขยะทำให้คุณภาพอากาศเสียไปด้วย
         เมื่อเราเป็นผู้ที่ทำให้เกิดขยะมูลฝอยขึ้นมา  เราทุกคนจึงควรช่วยกันรักษาความสะอาด  ป้องกันอันตรายต่าง ๆ  ที่อาจเกิดขึ้นได้จากขยะมูลฝอย  การทิ้งขยะให้ถูกต้อง คือ ทิ้งขยะมูลฝอยในภาชนะที่จัดไว้สำหรับทิ้งขยะมูลฝอย  แล้วจัดการเผาหรือฝังเสีย  ในท้องที่ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทางการเก็บขยะมูลฝอย  เราก็ควรใส่ขยะลงในถุงพลาสติกผูกปากให้แน่น หรือใส่ภาชนะที่แข็งแรง  เช่น  ถังที่ไม่รั่วซึม  มีฝาปิดมิดชิด  ไม่ควรใช้เข่ง  เพื่อที่พนักงานเก็บขนขยะมูลฝอย  จะได้นำไปกำจัดที่สถานที่กำจัดขยะได้สะดวก
ประเภทของขยะมูลฝอย
         ขยะมูลฝอยอาจแบ่งออกได้ตามลักษณะส่วนประกอบของขยะมูลฝอย  ได้เป็น 10 ประเภท  ได้แก่
1.  ผักผลไม้ และเศษอาหาร  ได้แก่  เศษผัก  เศษผลไม้  เศษอาหารที่เหลือจากการปรุงอาหารและเหลือจากการบริโภค  เช่น  ข้าวสุก  เปลือกผลไม้  เนื้อสัตว์  ฯลฯ
2.  กระดาษ  ได้แก่  วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อกระดาษ  เช่น  กระดาษหนังสือพิมพ์ใบปลิว  ถุงกระดาษ  กล่องกระดาษ  ฯลฯ
3.  พลาสติก  ได้แก่  วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก  เช่น  ถุงพลาสติก  ภาชนะพลาสติก  ของเล่นเด็ก  ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาส  ฯลฯ
4.  ผ้า  ได้แก่  สิ่งทอต่าง ๆ  ที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติและใยสังเคราะห์  เช่น  ฝ้าย  ลินินขนสัตว์  ผ้าไนลอน  ได้แก่  เศษผ้า  ผ้าเช็ดมือ  ถุงเท้า  ผ้าขี้ริ้ว  ฯลฯ
5.  แก้ว  ได้แก่  วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว  เช่น  เศษกระจก  ขวด  หลอดไฟ  เครื่องแก้ว  ฯลฯ
6.  ไม้  ได้แก่  วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้  ไม้ไผ่  ฟาง  หญ้า  เศษไม้  เช่น  กล่องไม้เก้าอี้  โต๊ะ  เฟอร์นิเจอร์  เครื่องเรือน  ฯลฯ
7.  โลหะ  ได้แก่  วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากโลหะ  เช่น  กระป๋อง  ตะปู  ลวดภาชนะที่ทำจากโลหะต่าง  ฯลฯ
8.  หิน  กระเบื้อง  กระดูก และเปลือกหอย ได้แก่  เศษหิน  เปลือกหอย  เศษกระดูกสัตว์เช่น  ก้างปลา  เครื่องปั้นดินเผา  เปลือกหอย  กุ้ง  ปู  เครื่องเคลือบ  ฯลฯ
9.  ยางและหนัง  ได้แก่  วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางและหนัง  เช่น  รองเท้า  กระเป๋าลูกบอล  ฯลฯ
10.  วัสดุอื่น ๆ  ได้แก่  วัสดุที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มต่าง ๆ  ข้างต้นhttp://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi3/garbet/garbetn.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น